เกี่ยวกับคณะ
ประวัติความเป็นมา
รัฐบาลมีนโยบายที่มุ่งให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างเสมอภาครวมทั้งการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์การด้านการแพทย์ในทวีปเอเชีย รวมทั้งการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๒๕๕๘ การเปิดเสรีทางการค้า การเพิ่มขึ้นและการแข่งขันด้านการบริการสุขภาพของเอกชน อุบัติการณ์ของโรคไร้เชื้อ โรคติดเชื้อ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร ทำให้มีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น ฯลฯ ทำให้เกิดความต้องการบุคลากรพยาบาลเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จำนวนพยาบาลที่เหมาะสมของพยาบาลวิชาชีพต่อประชากรที่จะต้องดูแล จึงเป็นเป้าหมายที่สำคัญและท้าทายของการจัดระบบบริการสุขภาพที่พึงประสงค์ จึงไม่ใช่เพียงปัญหาของวิชาชีพพยาบาลเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาของระบบบริการสุขภาพไทยอีกด้วย
ปัจจุบันปัญหาขาดแคลนบุคลากรสาขาวิชาชีพพยาบาลของประเทศไทยยังอยู่ในขั้นวิกฤตจากการสำรวจ ปัญหาขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพของประเทศไทยในปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ของสภาการพยาบาล พบว่า กระทรวงสาธารณสุข ยังขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพอีกถึง ๓๓,๔๐๖ คนขณะเดียวกันยังมีจำนวนพยาบาลวิชาชีพอีกส่วนหนึ่งที่จะต้องจะทยอยเข้าสู่วัยเกษียณอายุ ถึงร้อยละ ๑๕- ๒๐ ต่อปี ในระยะเวลาอีกประมาณ ๕-๑๐ ปีข้างหน้า นอกจากนี้ ยังมีความต้องการใช้พยาบาลวิชาชีพภายนอกกระทรวงสาธารณสุขทั้งในโรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลของกระทรวงกลาโหม โรงงานอุตสาหกรรม ศูนย์บริการสุขภาพเด็ก รวมถึงสถานศึกษาทั่วประเทศ อีกจำนวนมาก นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดอัตราส่วนพยาบาลวิชาชีพต่อประชากร ไว้ที่ ๑:๕๐๐ คน ในขณะที่ประเทศไทยอัตราส่วนยังสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
การแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพ จึงถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบแก้ไข ทางออกของการแก้ปัญหาการขาดแคลนพยาบาลที่สำคัญประการหนึ่งคือ การรับสมัครพยาบาลหลักสูตรพยาบาลศาสตร์เพิ่มมากขึ้น กระทรวงสาธารณสุขจึงได้จัดทำแผนผลิตบุคลากรสาขาการพยาบาลเพิ่มภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง ๒๕๕๓-๒๕๕๕ รวมทั้งสิ้น ๘,๕๐๐ คน เพื่อกระจายบุคลากรไปยังโรงพยาบาลต่างๆ รวมไปถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลด้วย ส่งผลให้ภายในปี ๒๕๕๗ กระทรวงสาธารณสุขจะมีพยาบาลวิชาชีพจบใหม่ ๓,๐๐๐ คน ซึ่งยังไม่สามารถทดแทนปริมาณพยาบาลวิชาชีพที่ต้องการได้เช่นกันและยังคงเป็นช่องว่างที่สถาบันการศึกษาพยาบาลอื่นๆ สามารถผลิตพยาบาลวิชาชีพได้อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความนิยมเรียนพยาบาลของเด็กไทยมีมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นวิชาชีพที่มั่นคง เรียนจบแล้วมีงานรองรับแน่นอน รวมทั้งมีความก้าวหน้าทางวิชาชีพสูง
จากความจำเป็นและความสำคัญดังกล่าวแล้วข้างต้นจึงเป็นโอกาสของการเปิดคณะพยาบาลศาสตร์ ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีเป็นสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อม ในหลายๆ ด้านในการขยายการศึกษาในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมและประเทศชาติได้โดยเฉพาะจัดการศึกษาในสาขาพยาบาลศาสตร์ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตามที่สภาวิชาชีพและคณะกรรมการการอุดมศึกษากำหนดไว้
ดังนั้นในฐานะสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องมีบทบาทในการช่วยแก้ปัญหาสังคม มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จึงได้ดำเนินการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์และดำเนินการพัฒนาหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต ขึ้นโดย
คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ในการประชุมคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีครั้งที่ ๑๒/๒๕๕๕ วันที่ ๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕
คณะกรรมการสภาวิชาการให้ความเห็นชอบหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ ๒๕๕๗) ในการประชุมสภาวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ครั้งที่ ๘/๒๕๕๖ วันที่ ๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
คณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี อนุมัติหลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรใหม่ ๒๕๕๗) ในการประชุมคณะกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ครั้งที่ ๘/๒๕๕๖ วันที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๖
สภาการยาบาล อนุมัติหลักสูตรการพยาบาลศาสตรบัณฑิต เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗
สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา อนุมัติหลักสูตรการพยาบาลศาสตรบัณฑิต เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๗
คณบดีคนแรก อาจารย์ณัทกวี ศิริรัตน์ ปี พ.ศ. ๒๕๕๘-๒๕๖๒
คณบดี ปัจจุบัน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขศิริ ประสมสุข ปี พ.ศ. ๒๕๖๒-๒๔ู๖๖