ประวัติความเป็นมา

คณะพยาบาลศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

          เริ่มต้นจากปี พ.ศ. ๒๕๕๖ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรีเล็งเห็นความจำเป็นของการจัดตั้งคณะพยาบาลศาสตร์เพื่อสนับสนุนการผลิตพยาบาลทั่วประเทศ ซึ่งอยู่ในสภาวะที่ขาดแคลนและรองรับสังคมสูงอายุในอนาคต โดยมอบหมายให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการและอาจารย์ณัทกวี ศิริรัตน์วางแนวทางดำเนินการก่อตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ วางรากฐานพัฒนาหลักสูตร สรรหาอาจารย์ที่มีคุณภาพและจัดหาทรัพยากรตามมาตรฐานวิชาชีพ โดยมีเป้าหมายเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ทั้งนี้คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรีได้รับอนุมัติงบประมาณจากสำนักงบประมาณสนับสนุนโครงการก่อสร้างอาคารวิทยาการสุขภาพประมาณ 200 กว่าล้านบาททั้งนี้มุ่งหวังให้เป็นศูนย์ความเป็นเลิศด้านการดูแลผู้สูงอายุในภูมิภาคตะวันตก

          ในการดำเนินงานเปิดหลักสูตร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงามรองอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์ผลิตบัณฑิตเป็นประธานคณะกรรมการ และอาจารย์ณัทกวี ศิริรัตน์ จัดทำหลักสูตรร่วมกับคณาจารย์ของคณะพยาบาลศาสตร์ โดยได้รับความร่วมมือจากศาสตราจารย์ นายแพทย์รัชตะ รัชตะโยธิน ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสภามหาวิทยาลัยมหิดลและผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จริยา วิทยะศุภร ผู้อำนวยการโรงเรียนพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงเรียนพยาบาลรามาธิบดีขณะนั้นในการเป็นสถาบันพี่เลี้ยง โดยวันที่ ๒๐ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๗ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัยอนุมัติหลักสูตรและวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ สภาการพยาบาลให้ความเห็นชอบหลักสูตร โดยมีอาจารย์ณัทกวี ศิริรัตน์ ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ รับนักศึกษารุ่นแรกจำนวน ๗๐ คน

          ปี พ.ศ. ๒๕๕๗ เป็นช่วงที่การก่อสร้างอาคารคณะพยาบาลศาสตร์ยังไม่แล้วเสร็จ คณะพยาบาลศาสตร์จึงตั้งอยู่ที่อาคาร ๘ คณะคุรุศาสตร์เดิมโดยปรับปรุงให้มีห้องทำงานของอาจารย์ ห้องประชุม ห้องประชุมกลุ่มย่อยห้องเรียนและห้องปฏิบัติการด้วยงบประมาณ ๒.๕ ล้านบาท

          ปี พ.ศ. ๒๕๕๘ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรี มอบหมายให้อาจารย์ณัทกวี ศิริรัตน์ ดำเนินการบริหารจัดการในรูปแบบ Health Science Cluster กล่าวคือ ควบรวมคณะพยาบาลศาสตร์กับสาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์และสาขาวิชาการแพทย์แผนไทย สังกัดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้อยู่ภายใต้คณะพยาบาลศาสตร์ โดยแบ่งส่วนการบริหารเป็นสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์และสาขาวิชาแพทย์แผนไทยตามประกาศมหาวิทยาลัยราชภัฎเพชรบุรีเมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๘ และในช่วงเวลาเดียวกันนี้ มหาวิทยาลัยสนับสนุนงบประมาณแบบให้ยืมสำหรับการพัฒนาคณะควบคู่กับการเร่งพัฒนาศักยภาพอาจารย์โดยให้ลาศึกษาต่อเพื่อกลับมาพัฒนาการเรียนการสอนให้นักศึกษาและเตรียมพร้อมต่อการรับรองสถาบันการศึกษาพยาบาลและผดุงครรภ์

          ปี พ.ศ. ๒๕๖๑ คณะพยาบาลศาสตร์ย้ายที่ทำงานมายังอาคาร ๒๙  (อาคารวิทยาการสุขภาพ) ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะพยาบาลศาสตร์ในปัจจุบัน ภายในอาคารประกอบด้วยห้องเรียน ห้องทำงานและห้องประชุมที่ทันสมัย รวมทั้งได้รับงบประมาณแผ่นดินเพิ่มเติมให้จัดตั้งศูนย์เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพที่ทันสมัยที่สุดในเอเชียประกอบด้วย

      1. ศูนย์เรียนรู้ทางการพยาบาล โดยในศูนย์ประกอบด้วยวัสดุครุภัณฑ์สำหรับฝึกปฏิบัติการพยาบาลและสุขภาพ ห้องปฏิบัติการสมาร์ทแลป ห้องปฏิบัติการกายวิภาคศาสตร์ ห้องปฏิบัติการจำลองสถานการณ์ผู้ป่วยขั้นสูง (Advanced Adult Care Simulation) ห้องปฏิบัติการจำลองสถานการณ์การทำคลอดขั้นสูง (Advanced Obstetrics Care Simulation)
      2. ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science Center)
      3. ศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ (Elderly Care Center)
      4. ศูนย์ดูแลสุขภาพเด็กเล็ก (Child Care Center) (ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการ)
      5. ศูนย์แพทย์แผนไทยศึกษาชั้นคลินิก (Thai Traditional Medical Education Center)
      6. คลินิกการแพทย์แผนไทย (Thai Traditional Medicine Clinic)
      7. ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ (Health Promotion Center)

          ปี พ.ศ. ๒๕๖๓ ด้วยวิสัยทัศน์ของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีมอบหมายให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วนิดา ดุรงค์ฤทธิชัย คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์รวมสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์และสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยให้อยู่ภายใต้กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพพร้อมกับสนับสนุนการพัฒนาสาขาวิชาให้มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ตามขอบเขตทางวิชาชีพอย่างชัดเจนภายใต้การควบคุมกำกับหลักสูตรและการจัดการจัดการเรียนการสอนของสภาวิชาชีพตามพระราชบัญญัติวิชาชีพที่เกี่ยวข้องเพื่อการเติบโตและขยายฐานการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในระยะยาว โดยนามของคณะที่ปรากฏและสื่อสารไปสู่สาธารณะจะต้องสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องจึงเสนอปรับนามคณะพยาบาลศาสตร์และได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ให้ปรับนามเป็น “คณะพยาบาลศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ”

          มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีสนับสนุนการผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพของคณะพยาบาลศาสตร์และวิทยาการสุขภาพให้บรรลุตามอัตลักษณ์บัณฑิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี คือ ซื่อสัตย์ มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ และจิตใจความเป็นมนุษย์ โดยสนับสนุนการสรรหาอาจารย์ที่มีคุณภาพตามเกณฑ์สภาวิชาชีพ การดูแลคุณภาพชีวิตของอาจารย์และนักศึกษาให้ฝึกปฏิบัติในแหล่งต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย การจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษา การเสนอขออนุมัติงบประมาณแผ่นดินเพื่อจัดหาวัสดุครุภัณฑ์อุปกรณ์ที่ทันสมัยมาอำนวยความสะดวกเพื่อให้อาจารย์ทุ่มเทการสอนอย่างเต็มที่และนักศึกษาสามารถสอบใบประกอบวิชาชีพได้ในอัตราที่สูงเป็นที่ยอมรับจากสังคมและเป็นที่พึ่งทางวิชาชีพ

          มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาศูนย์เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพสู่ศูนย์เป็นเลิศที่สามารถเป็นทั้งแหล่งฝึกปฏิบัติและแหล่งบริการวิชาการ ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินจำนวนปีละประมาณ 10 ล้านบาทในการสร้างห้องปฏิบัติการจำลองสถานการณ์ผู้ป่วยขั้นสูง (Advanced Adult Care Simulation) และห้องปฏิบัติการจำลองสถานการณ์การทำคลอดขั้นสูง (Advanced Obstetrics Care Simulation) ตลอดจนหุ่นฝึกปฏิบัติการเสมือนจริงอีกจำนวนหลายรายการ

          นอกเหนือจากศูนย์เรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพภายในอาคารของคณะพยาบาลศาสตร์และ วิทยาการสุขภาพแล้ว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เสนาะ กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรีและผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. วนิดา ดุรงค์ฤทธิชัย คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์และวิทยาการสุขภาพได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ที่ตอบโจทย์สังคมสูงอายุและศูนย์เรียนรู้ในสภาพธรรมชาติ (Social lab) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาสาขาวิชาพยาบาลศาสตร์ สาขาวิชาสาธารณสุขศาสตร์และสาขาวิชาการแพทย์แผนไทยเรียนรู้ร่วมกันแบบสร้างทักษะความเชี่ยวชาญตามศาสตร์วิชาชีพและบูรณาการศาสตร์ในวิชาชีพและข้ามวิชาชีพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำประกอบด้วยศูนย์เรียนรู้สมุนไพรตามหลักปรัชญาเศษฐกิจพอเพียง ศูนย์วิจัยการแพทย์แคนาบีนอยด์และกัญชาศาสตร์ (Cannabinoid Medicine and Cannabis Science Research Center) และศูนย์เรียนรู้สมุนไพร วิทยาเขตโป่งสลอด

          ทิศทางการพัฒนาของคณะพยาบาลศาสตร์และวิทยาการสุขภาพในอนาคตยังคงมุ่งมั่นผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพให้มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับกับสังคมโดยนักศึกษาสามารถสอบใบประกอบวิชาชีพได้ในอัตราสูง พัฒนามาตรฐานและศักยภาพของอาจารย์ สร้างเครือข่ายในและต่างประเทศ พัฒนาหลักสูตรหลากหลายที่ตอบโจทย์คนทุกช่วงวัยในสังคมสูงอายุ เทคโนโลยี ปัญญาประดิษฐ์และสังคมแห่งการเปลี่ยนแปลง

ศูนย์ฝึกปฏิบัติการวิทยาศาสตร์สุขภาพ ประกอบด้วย

      1. ศูนย์เรียนรู้ทางการพยาบาล (Nursing Learning Resource Center)
      2. ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ (Health Science Center)
      3. ศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ (Elderly Care Center)
      4. ศูนย์แพทย์แผนไทยศึกษาชั้นคลินิก (Thai Traditional Medical Education Center)
      5. คลินิกการแพทย์แผนไทย (Thai Traditional Medicine Clinic)
      6. ศูนย์เรียนรู้สมุนไพรตามหลักปรัชญาเศษฐกิจพอเพียง
      7. ศูนย์วิจัยการแพทย์แคนาบีนอยด์และกัญชาศาสตร์ (Cannabinoid Medicine and Cannabis Science Research Center)
      8. ศูนย์เรียนรู้สมุนไพรวิทยาเขตโป่งสลอด

หลักสูตรที่ดำเนินการ ประกอบด้วย

      1. หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต
      2. หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต
      3. หลักสูตรการแพทย์แผนไทยบัณฑิต
      4. หลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล

รายนามคณบดี

อาจารย์ณัทกวี ศิริรัตน์

ปี พ.ศ. 2557 - 2562

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นรีนารถ ศรีวรนารถ

(รักษาการคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์)

24 มกราคม 2562

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุขศิริ ประสมสุข

18 มีนาคม – 17 ตุลาคม 2562

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นรีนารถ ศรีวรนารถ

รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

(รักษาการคณบดีคณะพยาบาลศาสตร์)

18 ตุลาคม - 16 ธันวาคม 2562

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วนิดา ดุรงค์ฤทธิชัย

17 ธันวาคม 2562 ถึงปัจจุบัน


คณะพยาบาลศาสตร์และวิทยาการสุขภาพ
มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

38 หมู่ 8 ถ.หาดเจ้าสำราญ ต.นาวุ้ง อ.เมือง จ.เพชรบุรี 76000
โทร: 032-708622
โทรสาร: 032-708665
อีเมล์: nursepbru@mail.pbru.ac.th
Website : http://nurse.pbru.ac.th/
 

Copyright © 2020 Faculty Of Nursing Phetchaburi Rajabhat University , All rights reserved.
Develop by Digital Technology Center PBRU